gmgolf2

“ทีวีดิจิตอล” เปลี่ยนโฉมวงการโทรทัศน์ประเทศไทย

“ทีวีดิจิตอล” เปลี่ยนโฉมวงการโทรทัศน์ประเทศไทย

เริ่มต้นทดลองออกอากาศกันไปเรียบร้อย สำหรับช่องทีวีดิจิตอลประเภทธุรกิจ 24 ช่อง ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นเจ้าภาพเปิดประมูลคลื่นความถี่และใบอนุญาตไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา



3 เดือนผ่านไป ท่ามกลางฝุ่นตลบอบอวล จากการเคลื่อนไหวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องนับเป็นธุรกิจร้อนแรงที่สุดแห่งปี โดยเฉพาะการทุ่มลงทุนด้านโครงข่าย การก่อสร้างสตูดิโอ การซื้อตัวผู้ผลิต–ดารา–ทีมงานกันอย่างคึกคัก ไปจนถึงการช่วงชิงงบโฆษณาทางด้านสื่อทีวีที่ กสทช.เป็นผู้ให้ตัวเลขมหาศาลกว่า 80,000 ล้านบาท


นับเป็นการพลิกโฉมวงการโทรทัศน์ในประเทศไทย ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีมากว่า 60 ปีแล้ว และยังเป็นการรื้อระบบสัมปทานแบบเดิม เพื่อก้าวสู่ระบบการให้ใบอนุญาตเพื่อกรุยทางเปิดเสรีให้ผู้ประกอบการรายใหม่ได้เข้ามาแข่งขัน จากธุรกิจที่เคยถูกผูกขาดจากฟรีทีวีเพียงไม่กี่ช่อง

ในที่สุดถึงเวลาที่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะต้องระดมทีมงานสร้างสรรค์รายการกันสุดฤทธิ์สุดเดชเพื่อแข่งขันดึงเรตติ้งผู้ชมทางบ้าน แม้ว่าจะเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดและเป็นที่ชื่นชอบของคนทุกเพศทุกวัยก็ตาม แต่ใช่ว่าได้ใบอนุญาตมาแล้วจะประสบผลสำเร็จเป็นสูตรสำเร็จตามตัว
จึงขอไล่เรียงให้ผู้ชม ประชาชนคนไทยทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการแข่งขันของโทรทัศน์ 24 ช่องใหม่ ได้ตระหนักถึงโอกาสในการเสพสื่อด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยและมีคุณภาพส่งตรงถึงบ้าน ผ่านหน้าจอแบบง่ายๆอีกครั้ง...

ทีวีดิจิตอลมีดีอย่างไร ทำไมต้องดู
นับตั้งแต่ปี 2498 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการแพร่ภาพออกอากาศรายการโทรทัศน์ในประเทศไทย เป็นเวลาเกือบ 60 ปี ที่วงการโทรทัศน์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรม
จวบจนเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2557 ซึ่งเป็นวันที่ กสทช.กำหนดให้มีการทดลองออกอากาศทีวีดิจิตอล เทคโนโลยีใหม่ในประเทศไทยขึ้น
เทคโนโลยีที่ใช้ในการออกอากาศระบบโทรทัศน์ ไม่ต่างอะไรกับเทคโนโลยีที่พวกเราคุ้นเคยกันอยู่ในชีวิตประจำวัน เทคโนโลยีใหม่ๆ ย่อมมีประสิทธิภาพกว่า ประหยัดกว่า และช่วยในการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่ามากกว่า
ยกตัวอย่าง การออกอากาศบนคลื่นความถี่ขนาดเท่ากัน ระบบอนาล็อกแบบเก่าจัดสรรได้ 6 ช่อง ขณะที่ระบบดิจิตอลจัดสรรได้ 48 ช่อง เป็นต้น
การเพิ่มจำนวนช่อง นับเป็นการช่วยเพิ่มผู้ประกอบการไปโดยปริยาย ลดการผูกขาดจากช่องเดิม ก่อให้เกิดการแข่งขันกันผลิตรายการคุณภาพ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตหน้าใหม่ ให้ได้มีเวทีแสดงฝีมือ
นอกจากนั้น การส่งเสียงและภาพด้วยสัญญาณดิจิตอลที่เป็นรหัส ยังทำให้ภาพที่รับชมได้ มีความคมชัดและเสียงที่สมจริงมากขึ้น ปราศจากสัญญาณรบกวน
ในระบบดิจิตอล ผู้ชมจึงจะได้รับประสบการณ์เต็มอิ่มจากทั้งภาพและเสียง ไม่มีกรณีภาพไม่ชัด เสียงรบกวนเกิดขึ้น เปรียบเทียบกับระบบอนาล็อกที่ไม่สามารถรับประกันคุณภาพของสัญญาณได้ ไม่นับรวมความสามารถทางเทคโนโลยีดิจิตอล ที่รองรับการให้บริการมัลติมีเดียอีกหลากหลาย ตอบรับไลฟ์สไตล์ในยุคปัจจุบัน
ที่สำคัญ ระบบดิจิตอลยังช่วยลดการใช้พลังงานของประเทศ เนื่องจากระบบส่งสัญญาณและเครื่องรับโทรทัศน์ระบบดิจิตอล จะประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าระบบอนาล็อกหลายเท่าตัว และยังสามารถใช้ทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายการส่งสัญญาณร่วมกัน อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
การเดินหน้าเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีทีวีดิจิตอล จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องเกิดขึ้น เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ชมรายการ นอกเหนือจากการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน ที่ได้มีมติให้ใช้ระบบ DVB-T2 เป็นมาตรฐานร่วมกัน และมีกรอบเวลาในการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบอนาล็อกของประเทศสมาชิก ระหว่างปี 2558-2563
อันทำให้ไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระบบทีวีให้สอดคล้องกับข้อตกลงของอาเซียนเพื่อความทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ก่อนที่อุปกรณ์ส่งสัญญาณระบบอนาล็อก รวมทั้งเครื่องรับโทรทัศน์ระบบอนาล็อก จะกลายเป็นของตกยุค และไม่มีการผลิตอีกต่อไป

ทำอย่างไรถึงได้ดูทีวีดิจิตอล
ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า การดูโทรทัศน์ในประเทศไทย ปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือการดูผ่านเสาก้างปลา ซึ่งเป็นเสารับสัญญาณตามบ้าน แต่ส่วนใหญ่ประสบปัญหารับภาพไม่ได้หรือภาพล้ม ไม่คมชัด เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับสัมปทานไม่นิยมขยายโครงข่าย เสาส่งสัญญาณที่ต้องติดตั้งทั่วประเทศ เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูงและเสาที่ลงทุนต้องโอนให้รัฐตามเงื่อนไขสัมปทาน เอกชนไม่ได้เป็นเจ้าของ
ในช่วง 20 ปีหลัง ผู้ชมในไทยจึงนิยมติดจานดาวเทียม เพื่อให้ได้รับชมภาพได้ชัดขึ้น ทำให้จนถึงปัจจุบัน ครัวเรือนที่ติดจานดาวเทียมหลากหลายชนิด มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของครัวเรือนทั้งประเทศที่ 22.9 ล้านครัวเรือน
ขณะที่ครัวเรือนที่เหลือ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับ 8–10 ล้านครัวเรือน ยังดูผ่านเสาก้างปลาที่ติดบนหลังคาบ้านอยู่ และดูทีวีได้เฉพาะช่องที่มีเสาส่งสัญญาณครอบคลุมเพียงพอ แต่หากจะดูให้ครบช่อง ชัดเจน ก็ต้องควักกระเป๋าติดตั้งจานดาวเทียม
ในกรณีของระบบดิจิตอลใหม่ กรณีแรก หากรับชมผ่านจานดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็นจานชนิดใด สีใด ขนาดใดรวมถึงเคเบิลทีวีด้วย ผู้ชมจะได้รับชมช่องทีวีดิจิตอลใหม่ 24 ช่อง โดยอัตโนมัติ หากแต่ต้องดึงปลั๊กไฟกล่องรับสัญญาณออก แล้วเสียบกลับเข้าไปใหม่ ผู้ให้บริการก็จะปรับจูนหรืออัพเดตช่องรายการให้ แต่หากยังรับชมไม่ได้ ต้องติดต่อกับผู้ให้บริการดาวเทียมหรือเคเบิลที่เป็นสมาชิกอยู่
กรณีที่ 2 หากรับชมผ่านหนวดกุ้ง สายอากาศ ก้างปลา และไม่เคยติดจานหรือกล่องใดๆเลย หากจะรับชมทีวีดิจิตอลที่ออกอากาศด้วยระบบใหม่ ก็จำเป็นต้องซื้อกล่องทีวีดิจิตอล (Set Top Box) มาเชื่อมต่อกับทีวี และยังต้องเชื่อมต่อสายอากาศ ก้างปลาหรือหนวดกุ้งเพื่อรับสัญญาณด้วย จึงจะสามารถรับชมได้ กรณีนี้ในทางตรงกันข้าม หากไม่ประสงค์รับชมทีวีดิจิตอลใหม่ ก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะช่องอนาล็อก ฟรีทีวี 6 ช่องเดิม จะยังออกอากาศไปอย่างต่ำ 3-5 ปี ก่อนถูกโละทิ้ง
กรณีที่ 3 หากต้องการซื้อโทรทัศน์ใหม่ ต้องให้แน่ใจว่าเป็นทีวีรุ่นที่รองรับเทคโนโลยี DVB-T2 แบบติดตั้งมาในเครื่อง ซึ่งทำให้ไม่ต้องใช้ Set Top Box เพียงเสียบสายอากาศเข้าไปหรือเชื่อมต่อกับสายอากาศก้างปลา ก็สามารถดูได้เลย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ชมควรทำความเข้าใจคือ ระบบดิจิตอลใหม่เป็นทีวีที่ออกอากาศผ่านระบบภาคพื้นดิน (Territorial) ซึ่งหัวใจสำคัญคือ การดูผ่านสายอากาศ หนวดกุ้ง เสาก้างปลา จึงจะได้มาตรฐานการแพร่ภาพตามกำหนด เช่น ช่องความละเอียดของภาพคมชัด (เอชดี) ก็จะได้เป็นภาพเอชดี
การรับชมผ่านดาวเทียมหรือเคเบิล ซึ่งเป็นคนละมาตรฐานการออกอากาศ จะทำให้ไม่สามารถรับชมภาพได้ตามมาตรฐาน เช่น ช่องเอชดี ภาพจะไม่ได้มาตรฐานเอชดี
สิ่งสำคัญควรสังเกตและจดจำให้ดีอีกเรื่องคือ เมื่อจะซื้อกล่องทีวีดิจิตอลและทีวีเครื่องใหม่ ให้สังเกตดูว่าเป็นสินค้าที่มีสัญลักษณ์ “กสทช.” และมีสติกเกอร์ “น้องดูดี ทีวีดิจิตอล” หรือไม่ เพราะถือเป็นสัญลักษณ์ในการการันตีคุณภาพสินค้า
นอกจากนั้น ยังควรเลือกซื้อสินค้าที่ผู้ขายมีตัวตน ประกอบกิจการเป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่ง เนื่องจากหากกล่องมีปัญหา จะได้มีบริการหลังการขายหรือมีการรับประกันสินค้าให้

ช่องดิจิตอลใหม่มีอะไรให้ชมบ้าง
ในช่วงการทดลองออกอากาศตั้งแต่วันที่ 1-24 เม.ย.2557 นี้ การเรียงหมายเลขช่อง ยังติดขัดปัญหาทางเทคนิคอยู่บ้าง รวมถึงระบบเสียงด้วย
ผู้ชมที่รับชมผ่านกล่องดิจิตอล จะได้รับชมช่องไล่เรียงตามที่ผู้ชนะการประมูลเลือก ช่อง 1-36 (ตามตาราง ประกอบด้วยช่องสาธารณะ ช่อง 1-12 และช่องธุรกิจ 13-36)
ขณะที่ผู้ชมผ่านระบบดาวเทียม เคเบิล จะประสบความยากลำบากในการจดจำช่องใหม่แน่นอน เพราะนอกจาก 6 ช่องฟรีทีวีเดิมจะเปลี่ยนเลขช่องใหม่แล้ว กสทช.ยังให้สิทธิ
ผู้ประกอบการดาวเทียมและเคเบิล สามารถจัดสรรช่อง 1–10 ได้ตามใจชอบ การออกอากาศช่องดิจิตอลบนทีวีดาวเทียมหรือเคเบิล จึงจะเริ่มต้นตั้งแต่เลขช่อง 11 เป็นต้นไป
ยกตัวอย่างเช่น ช่อง 5 ซึ่งการรับชมผ่านกล่องดิจิตอล ถูกจัดอยู่ในหมวดทีวีสาธารณะ ออกอากาศในช่อง 1 (ทีวีสาธารณะออกอากาศระหว่างช่อง 1-12) แต่บนดาวเทียมหรือเคเบิล จะอยู่ที่ช่อง 11 เป็นต้น
ปัจจุบันผู้ประกอบการดาวเทียมรายใหญ่อย่างพีเอสไอ (จานดำโปร่ง) ได้ไล่เรียงช่องออกอากาศใหม่แล้ว โดยช่อง 1-10 ของพีเอสไอ เป็นการขายเลขช่องสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการออกอากาศบนช่องเลขตัวเดียว โดยหวังให้ผู้ชมกดรีโมตหาได้ง่ายกว่า สะดวกกว่า
ล่าสุดช่อง 1 ของพีเอสไอตกเป็นของเวิร์คพอยท์ ซึ่งประมูลใบอนุญาตเลือกช่องดิจิตอล ที่ 23 ช่อง 2 เป็นของสตาร์แม็ก ค่ายอาร์เอส และช่อง 3 เป็นของไทยรัฐทีวี ซึ่งประมูลได้ช่อง32
ขณะที่ผู้ประกอบการดาวเทียมและเคเบิลรายใหญ่อื่นๆ กำลังทยอยเรียงเลขช่องใหม่ อย่างค่ายซีทีเอช ซึ่ง 10 ช่องแรก ไล่เรียงตามความนิยมของฐานคนดู ส่วนทรูวิชั่นส์ รายใหญ่อีกรายยังอยู่ระหว่างเตรียมการด้านเทคนิค คาดว่าจะจัดเรียงช่องได้ในวันที่ 17 เม.ย. นี้ หากไม่มีอะไรผิดพลาด ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2557 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเดิมส่วนใหญ่ทดลองออกอากาศแบบเต็ม 100% ไม่ว่าจะเป็น ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง 5 ช่อง 11 และ ไทยพีบีเอส ซึ่งยกรายการจากช่องอนาล็อกเดิมมาออกอากาศทั้งกระบิ ด้วยภาพที่คม ชัด เต็มพิกัด ยกเว้นช่อง 3 ที่ยังออกอากาศไม่เต็มร้อย
ขณะที่ช่องใหม่ๆ อย่างพีพีทีวีของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เน้นรายการไลฟ์สไตล์และกองทัพละครเกาหลี ด้วยคอนเซปต์อัญมณีแห่งทีวีดิจิตอล มุ่งตอบโจทย์การออกอากาศควบคู่ ผ่านช่องทางธุรกิจในเครือ เช่น ทีวีบนเครื่องบางกอกแอร์เวย์สและทีวีที่ติดตั้งในโรงพยาบาลกรุงเทพและในเครือ ซึ่งมีลูกค้ารวมกันปีละ 8 ล้านคน
ด้านไทยรัฐทีวี ชูคอนเซปต์คิดต่างอย่างเข้าใจ มีจุดเด่นที่รายการเชิงสาระ สารคดีเชิงข่าว ชูความเข้มข้นในฐานะยักษ์ใหญ่สื่อสิ่งพิมพ์ ส่วนทรูฟอร์ยูของค่ายทรู ชูจุดขายรายการเรียลลิตี้ช่วงไพรม์ไทม์หลังข่าว ส่วนโมโน 29 ฉีกแนวไปเน้นหนัง รายการแอ็กชั่นเจาะกลุ่มผู้ชาย เป็นต้น
ส่วนผู้ประกอบการที่เคยมีประสบการณ์ทีวีมาแล้ว ส่วนใหญ่ทดลองออกอากาศกันแบบสบายๆ ไม่ว่าจะเป็นวอยซ์ทีวี สปริงนิวส์ เนชั่นทีวี จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ อาร์เอส ทีวีพูล รวมทั้งเวิร์คพอยท์ซึ่งประกาศว่าจะทำกำไรได้ตั้งแต่ปีแรก เพราะสะสมประสบการณ์มานาน ขณะที่ฟรีทีวี 6 ช่องเดิมไม่ต้องพูดถึง เพราะได้เปรียบอยู่หลายขุม
อย่างไรก็ตาม ในช่วงทดลองออกอากาศช่องทีวีต่างๆ อาจยังไม่อยากปล่อยของกัน เต็มที่มากนัก เพราะผังรายการยังไม่ชัดเจน เลขช่องก็ยังไม่นิ่ง ที่สำคัญระบบวัดเรตติ้งยังไม่มา ขายโฆษณาลำบาก
แต่เชื่อว่าหลังได้รับใบอนุญาตในวันที่ 25 เม.ย.2557 นี้ ผู้ชมจะได้เห็นการเปิดหน้าตักจากหลายช่อง เพื่อหวังช่วงชิงสายตาผู้ชม และภายในวันที่ 25 พ.ค.2557 ซึ่งครบ 1 เดือนหลังได้รับใบอนุญาต ผู้ประกอบการใดไม่ออกอากาศ จะต้องถูกปรับวันละ 1 ล้านบาท
สุดท้ายที่ต้องแจ้งอีกประการก็คือ การขยายโครงข่ายเสาสัญญาณรองรับการออกอากาศระบบภาคพื้นดินหรือ Territorial นั้น เฟสแรกครอบคลุมกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล, เชียงใหม่, นครราชสีมา, สงขลา และจะทยอยลงทุนไปเรื่อยๆ ปีนี้จะรับชมได้
มากกว่า 24 จังหวัด หรือรับชมได้มากกว่า 17.60 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 80% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 22.9 ล้านครัวเรือน
ส่วนปี 2558 จะเพิ่มพื้นที่การรับชมทีวีดิจิตอลได้อีกมากกว่า 15 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชุมพร ตราด มุกดาหาร ตาก ระนอง เลย ชัยภูมิ สตูล อุตรดิตถ์ บึงกาฬ ศรีสะเกษ ซึ่งทำให้รับชมได้ 90–95% ของครัวเรือนและครบ 100% ในปี 2559 โดยมีกำหนดโละทิ้งระบบอนาล็อกในปี 2560.

Related

Technology 5739989894311592133

Post a Comment Default Comments

emo-but-icon

Follow Us

.

Recent

Hot in week

Popular

Connect Us

Recommend us on Google!
Instagram

Subscribe

Subscribe via RSS Feed If you enjoyed this article just click here, or subscribe to receive more great content just like it.
item