Google เปิดตัว Android Wear แพลตฟอร์มสำหรับอุปกรณ์สวมใส่ได้
https://outdoclub.blogspot.com/2014/03/googles-android-wear-operating-system-for-smartwatchs-and-wearable-devices.html
Google เปิดตัว Android Wear แพลตฟอร์มสำหรับอุปกรณ์สวมใส่ได้
Android Wear แพลตฟอร์มที่จะผลักดัน Google ให้ครองความเป็นผู้นำระบบปฏิบัติการสำหรับนาฬิกาอัจฉริยะ และอุปกรณ์สวมใส่ โดยสมบูรณ์แบบ
ตลาดคอมพิวเตอร์สวมใส่ได้ตอนนี้มุ่งหน้ากันที่นาฬิกาข้อมือเป็นหลักแทบทุกรายแต่ปัญหาสำคัญคือไม่มีแพลตฟอร์มกลางที่ครองตลาด ส่วนมากอุปกรณ์ทุกตัวก็ออกแพลตฟอร์มมาพร้อมกันสินค้าของตัวเอง แต่ตอนนี้ค่ายแอนดรอยด์ก็ออกมาชิงตลาดนี้แล้วด้วย Android Wear
Android Wear จะรวมตัวเข้ากับ Google Now อย่างแนบแน่น ความสามารถยกมาจาก Google Glass คือเริ่มคำสั่งด้วยคำว่า "Ok Google" จากนั้นหน้าจอจะพยายามจัดข้อมูลที่เหมาะสมให้ เช่นเมื่อฟังเพลงอยู่หน้าจอจะแสดงเพลงปัจจุบัน
Google ปล่อยให้ผู้ผลิตนาฬิกาอัจฉริยะ (Smartwatchs) และอุปกรณ์สวมใส่ (Wearable Devices) รายอื่นๆ นำแอนดรอยด์ไปโมดิฟายเพื่อยังลงในนาฬิกาอัจฉริยะของพวกเขาอยู่เสียนาน และตอนนี้ก็ "ถึงเวลาแล้วที่ Google จะก้าวเข้ามาแสดงบทบาทความเป็นผู้นำในตลาดนาฬิกาอัจฉริยะที่นับวันจะมีมูลค่าทางการตลาดสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยตนเองบ้าง"
Android Wear นั้นเปรียบเหมือนระบบปฏิบัติการที่ทาง Google ออกแบบมาสำหรับนาฬิกาอัจฉริยะ หรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์แบบสวมใส่ได้ (Wearable Computer) โดยเฉพาะ โดยนำคอนเซ็ปต์ของเทคโนโลยี Google Now ที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ใช้ เพื่อทำให้นาฬิกาอัจฉริยะสามารถแสดงข้อมูลที่จำเป็น ในเวลาที่ผู้ใช้ต้องการได้โดยอัตโนมัติ โดยที่ผู้ใช้งานไม่ต้องร้องขอข้อมูล อาทิ เมื่อ Android Wear รู้ว่าคุณกำลังจะเดินทางด้วยเที่ยวบินใด และหากมีข้อมูลว่าเที่ยวบินนั้นเกิดการดีเลย์ขึ้นมากะทันหัน นาฬิกาอัจฉริยะก็จะแจ้งเตือนการดีเลย์นั้นโดยอัตโนมัติ หรืออีกหนึ่งตัวอย่าง เช่นคุณวางแผนว่าจะไปเที่ยวทะเลในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่ปรากฏมีข่าวพยากรณ์อากาศว่าจะเกิดมรสุมคลื่นลมแรงในช่วงเวลาที่คุณจะไปเที่ยว นาฬิกาอัจฉริยะก็จะแจ้งเตือนให้คุณทราบข่าวนี้โดยที่คุณไม่ต้องร้องขอ เทคโนโลยี Android Wear จึงเป็นการนำข้อมูลมาใกล้ชิด และรับใช้มนุษย์ได้มากขึ้น
แพลตฟอร์ม Android Wear ยังมีความยึดหยุ่นสำหรับการนำไปใช้ได้ทั้งหน้าปัดนาฬิกาแบบเหลี่ยม และแบบกลม และด้วยความง่ายในการนำไปใช้งาน (ผู้ผลิตนาฬิกาไม่ต้องทำการปรับแต่งระบบแอนดรอยด์ด้วยตัวเอง) ทำให้ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นนาฬิกาอัจฉริยะจากผู้ผลิตหน้าใหม่หลายๆ ราย ที่เลือกใช้แพลตฟอร์ม Android Wear ที่ถึงแม้นาฬิกาแต่ละยี่ห้อจะมีดีไซน์ตัวเรือนที่แตกต่างกัน แต่ก็จะมีหน้าเมนู และรูปแบบการใช้งานที่คล้ายๆ กัน (ไม่ต่างอะไรกับสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์จากผู้ผลิตหลายรายที่มีรูปทรงตัวเครื่องแตกต่างกัน แต่ล้วนมีรูปแบบการใช้งานที่เหมือนกัน) Android Wear จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ Google ครองความเป็นผู้นำในเทคโนโลยีนาฬิกาอัจฉริยะโดยสมบูรณ์แบบ โดยล่าสุดมี Motorola 360 และ LG G Watch เป็นนาฬิกาอัจฉริยะ 2 เรือนแรกที่ใช้แพลตฟอร์ม Android Wear
ฟังก์ชันของ Android Wear
Android Wear มีอยู่ 3 ฟังก์ชันหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่ หน้าจอ Home Screen แบบ Google Now ที่สามารถใช้นิ้วเลื่อนเพื่อเปลี่ยนดูข้อมูลประเภทต่างๆ ได้ ฟังก์ชันที่ 2 คือแสดงการแจ้งเตือนต่างๆ ที่ถูกส่งมาจากสมาร์ทโฟนของคุณ และฟังก์ชันที่ 3 คือฟีเจอร์สำหรับการแสดงข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมที่ทำ เช่นแสดงอัตราการเผาผลาญแคลอรี่ในขณะที่ออกกำลังกาย
Home Screen ของ Android Wear มีชื่อเรียกว่า Context Stream ทำหน้าที่แสดงการ์ดข้อมูลต่างๆ ในสไตล์ของ Google Now โดยข้อมูลที่นำมาแสดงจะมีความสัมพันธ์กับบัญชี Google ของคุณ รวมถึงข้อมูลที่สัมพันธ์กับตำแหน่งที่อยู่ ณ ปัจจุบัน และข้อมูลที่สัมพันธ์กับประวัติการท่องเว็บไซต์ของคุณเป็นต้น โดยผู้ใช้งานสามารถเลื่อนดูข้อมูลจากการ์ดต่างๆ ด้วยการใช้นิ้วเลื่อนในแนวตั้ง
และหากคุณต้องการสั่ง Android Wear ให้ทำบางสิ่ง (อาทิ การตั้งเวลาปลุก, ส่งข้อความ หรือสั่งให้สมาร์ทโฟนเริ่มเล่นเพลง) ให้ออกเสียงพูดว่า “OK Google” หรือแตะที่ไอคอนตัว g ในหน้าจอ Homescreen มันก็จะพาคุณไปยังหน้าจอที่ใช้เริ่มต้นในการสั่งงานฟังก์ชันต่างๆ
แอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต สามารถส่งการแจ้งเตือนไปยังนาฬิกาอัจฉริยะได้ โดยการแจ้งเตือนนั้นจะถูกแสดงในรูปแบบของการ์ดบน Context Stream และสามารถใช้นิ้วเลื่อนการ์ดไปทางขวาได้เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแจ้งเตือนนั้นๆ และเนื่องด้วยในสภาพการใช้งานจริง อาจมีการแจ้งเตือนมากมายถูกส่งเข้ามายังนาฬิกาในเวลาเดียวกัน ทำให้มีการจัดลำดับความสำคัญของการแจ้งเตือนต่างๆ ออกเป็น 5 ระดับ คือ Maximum, High, Default, Low และ Minimum ทำให้การแจ้งเตือนที่มีความสำคัญสูงถูกนำมาแสดงได้อย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้คุณพลาดข้อมูลสำคัญ และเมื่อรายการแจ้งเตือนใดถูกลบ (Dismiss) ออกจากนาฬิกา การแจ้งเตือนนั้นก็จะถูกลบออกจากสมาร์ทโฟนด้วย
มาดูคลิปที่น่าสนใจเกี่ยวกับการตอบกลับข้อความด้วยคำสั่งเสียงกัน
ที่นำเสนอไปเป็นเพียงฟีเจอร์บางส่วนของแพลตฟอร์ม Android Wear ที่ทาง Google นำเสนอต่อกลุ่มนักพัฒนา ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทำให้นาฬิกา หรืออุปกรณ์สวมใส่ที่จะถูกพัฒนาขึ้นมาบนพื้นฐานของแพลตฟอร์มนี้ดูน่าสนใจไม่น้อย และเมื่อถึงเวลาออกวางจำหน่ายจริง เราคงต้องมานั่งลุ้นกันอีกทีว่ามันจะเจ๋งจริงอย่างที่คิดเอาไว้หรือไม่
กูเกิลเริ่มทำงานกับคู่ค้าหลายราย ทั้ง ASUS, HTC, LG, Motorola, และ Samsung แล้ว รวมถึงผู้ผลิตชิปทั้ง Broadcom, Imagination, Intel, MediaTek, และ Qualcomm รวมถึงแบรนด์แฟชั่นอย่าง Fossil Group อีกด้วย